รูปแบบการทำงานยังไง? ดึงใจพนักงาน Gen Y

รูปแบบการทำงานยังไง? ดึงใจพนักงาน Gen Y


"เด็กรุ่นใหม่ทำงานไม่ทน อยู่ไม่นาน เดี๋ยวก็ออก”

ประโยคคุ้นหูที่ได้ยินกันอยู่บ่อยๆ ของคนทำงาน และด้วยพฤติกรรมของการเปลี่ยนงานบ่อยๆ อยู่กับองค์กรแค่ชั่วครู่ หรือที่เรียกว่า Job Hopper ของคนรุ่นใหม่นั้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการ เจ้าของธุรกิจต้องสูญเสียต้นทุนในด้านการฝึกอบรมบุคลากรไปอย่างเปล่าประโยชน์ กลายเป็นปัญหาน่าปวดหัวอย่างหนึ่งที่ผู้ประกอบการต้องเจอ แต่เมื่อคนรุ่นใหม่ที่ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในภาคแรงงาน การเรียนรู้รูปแบบการทำงานใหม่ๆ ที่เหมาะสำหรับแรงงาน Gen Y จึงเป็นสิ่งที่องค์กรต้องรู้จักปรับตัว เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและได้ประสิทธิผลมากขึ้น

ทำงานจากบ้าน (Work from Home)

เป็นที่พูดถึงกันมานานพอสมควรสำหรับการทำงานจากบ้าน หรือ Work from Home รูปแบบการทำงานที่ระยะทางและสถานที่ไม่ได้เป็นตัวกำหนดประสิทธิภาพของการทำงาน ถือว่าตอบโจทย์พนักงานยุคดิจิทัลโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบการทำงานที่มีความยืดหยุ่น ที่สำคัญการที่ไม่ต้องมาผจญกับปัญหาจราจรในยามเช้า ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานในแต่ละวันได้อีกด้วย

จากงานศึกษาของนักวิจัยมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดที่ตีพิมพ์ใน Harvard Business Review พบว่า นอกจากพนักงานที่สามารถทำงานจากบ้านได้จะมีความสุขมากขึ้นแล้ว ยังมีแนวโน้มที่จะลาออกน้อยลง และมีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้นอีกด้วย โดยรายงานดังกล่าวยังได้ทำการสำรวจประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานคอลเซ็นเตอร์ของบริษัท Ctrip เว็บไซต์ท่องเที่ยวของจีน โดยทำการแยกพนักงานออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ทำงานในออฟฟิศ และ กลุ่มที่ทำงานจากบ้าน พบว่า พนักงานที่ทำงานจากบ้านสามารถทำงานได้สำเร็จมากกว่าในกลุ่มแรกถึง 13.5% นอกจากนี้ การที่ไม่ต้องนั่งประจำอยู่ที่ออฟฟิศตลอดเวลายังช่วยลดความตึงเครียด ความจำเจ และเพิ่มสมาธิให้กับพนักงานอีกด้วย

การทำงานในรูปแบบนี้ไม่เพียงแต่จะดีต่อพนักงานเท่านั้น ยังเป็นประโยชน์ต่อบริษัทอีกด้วย เช่น ช่วยบริษัทลดต้นทุน เพราะเมื่อพนักงานทำงานที่บ้าน ทรัพยากรในการทำงานก็จะตกเป็นหน้าที่ที่พนักงานต้องรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต และอุปกรณ์เครื่องเขียนต่างๆ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การทำงานในลักษณะนี้ อาจจะเหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ที่สามารถทำงานหรือส่งงานผ่านอินเทอร์เน็ตได้ เช่น งานเขียน งานด้านเอกสารต่างๆ หรืองานติดต่อลูกค้า ซึ่งต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับเนื้องานนั้นๆ นอกจากนี้ การทำงานแบบ Work from Home ยังอาจจะสร้างความกังวลให้กับนายจ้างในแง่ของความไม่แน่ใจว่า พนักงานคนนั้นๆ ทำงานเต็มเวลาจริงหรือไม่ และอาจสร้างความเลื่อมล้ำระหว่างตำแหน่งงานที่สามารถทำงานจากที่อื่นได้และงานที่ต้องทำในออฟฟิศเท่านั้น เพราะฉะนั้น การที่องค์กรจะนำรูปแบบการทำงานในลักษณะนี้มาใช้ จำเป็นต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมและวัฒนธรรมขององค์กรที่มีอยู่ด้วย

ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์

Work – Life Balance หรือการมีความสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงาน เป็นสิ่งที่คนต่างถวิลหา ซึ่งรูปแบบที่ให้พนักงานมาทำงานเพียง 4 วันต่อสัปดาห์นั้น กำลังมาแรงและเป็นที่พูดถึงอย่างมากในขณะนี้ เพราะเชื่อว่าจะส่งผลดีด้านการทำงานมากขึ้น เนื่องจากพนักงานจะไม่รู้สึกกดดัน มีความยืดหยุ่น และมีเวลาพักผ่อนเพียงพอ เพื่อเติมไฟให้พร้อมที่จะกลับมาทำงานกับองค์กรอีกครั้ง เช่น Wildbit บริษัทซอฟต์แวร์ชื่อดังในสหรัฐอเมริกา ที่มีการนำรูปแบบการทำงานแบบนี้มาใช้แล้วได้ผล โดยให้พนักงานทำงานเฉลี่ยสัปดาห์ละ 32 ชั่วโมง ในกรอบระยะเวลาทำงาน 4 วัน และพบว่าพนักงานทำงานได้ดีขึ้น มีความกระตือรือร้นในการมาทำงานในวันจันทร์มากขึ้น ที่สำคัญ มีไอเดียใหม่ๆในการทำงานมากขึ้น เช่นเดียวกับ Aki Kosaku บริษัททำของเล่นและงานคราฟต์จากลังกระดาษของญี่ปุ่น ที่ให้พนักงานมาทำงานสัปดาห์ละ 4 วัน วันละ 8 ชั่วโมง ซึ่งถึงแม้จะมีเวลาทำงานที่น้อยลง แต่กลับทำให้พนักงานมีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น สมาธิดีขึ้น และเพิ่มยอดขายให้กับบริษัทได้ถึง 30%

อย่างไรก็ตาม รูปแบบการทำงานลักษณะนี้ อาจจะเหมาะกับบางองค์กรและบางตำแหน่งงานที่ไม่ต้องเร่งรีบเพื่อทำยอดขาย หรือต้องคอยเสนอขายสินค้า/บริการให้ลูกค้าอยู่ตลอดเวลา ซึ่งถ้ามองในแง่ของความกังวลของผู้ประกอบการที่จะเกิดขึ้นตามมา จากการทำงานเพียงแค่ 4 วันต่อสัปดาห์นั้น อาจจะนำไปสู่ความเครียดที่เพิ่มขึ้นได้ นั่นก็เพราะทุกวินาทีเป็นสิ่งมีค่า การทำงานจึงเต็มไปด้วยความเข้มข้น และงานที่หนักมากขึ้น

หยุดเสาร์ – อาทิตย์

แม้เรื่องของการได้หยุดเสาร์ – อาทิตย์ จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่อย่าลืมว่าไม่ใช่ทุกบริษัทที่ให้พนักงานหยุดในช่วงสุดสัปดาห์ เพราะมีหลายที่เลยทีเดียวที่ต้องทำงานกันตั้งแต่วันจันทร์ – เสาร์ หรือ 6 วันต่อสัปดาห์ และนี่ก็เป็นสาเหตุอย่างหนึ่งที่ทำให้คนรุ่นใหม่ปฏิเสธที่จะร่วมงานกับบริษัทนั้นๆ นั่นก็เพราะ คน Gen Y ต้องการวันเสาร์-อาทิตย์ไว้สำหรับการทำกิจกรรมส่วนตัว หากมีบริษัทไหนให้ทำงานวันเสาร์ เด็กกลุ่มนี้จะยอมเลือกทำงานกับที่อื่นที่ไม่ต้องทำวันเสาร์มากกว่า แม้จะได้เงินเดือนน้อยกว่าก็ตาม ดังนั้น การทำงานวันเสาร์เลยมีผลอย่างมากต่อการตัดสินใจเลือกเข้าทำงานกับบริษัทต่างๆ นอกจากนี้ การได้พักผ่อนในช่วงวันหยุด ถือเป็นการชาร์จแบตและปลุกให้มีไอเดียดีๆ ในการทำงานมากขึ้น ซึ่งทางองค์กรเองก็ต้องพิจารณาว่า หากลดการทำงานวันเสาร์ลงนั้น จะมีการปรับระบบการทำงานอย่างไร เพื่อให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ โดยที่องค์กรเองยังอยู่ได้

4 เคล็ดลับดึงคนรุ่นใหม่ให้อยู่นานกับองค์กร

1. ความยืดหยุ่นต้องมี

นอกจากรูปแบบการทำงานที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ยังมีลักษณะการทำงานแบบอื่นๆ ที่จะสามารถเอาชนะใจคนรุ่นใหม่ได้ เช่น การทำงาน 4 วัน และหยุด 4 วัน นับต่อเนื่องกันไป เช่น พนักงานมาทำงาน 4 วัน เมื่อครบก็จะได้หยุด 4 วัน หลังจากนั้นก็กลับมาทำงานต่ออีก 4 วัน เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ โดยไม่ยึดติดกับเรื่องของวันในแต่ละสัปดาห์ หรือ จะเป็นการทำงานแบบไม่กำหนดเวลาเข้า – ออกงานที่ตายตัว แต่ต้องทำงานให้เต็มเวลาในแต่ละวัน เป็นต้น

2. งานต้องท้าทาย

คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับความท้าทายในการทำงาน เพราะฉะนั้น งานที่ได้รับมอบหมายต้องเป็นสิ่งที่น่าสนุกและดึงความสามารถของพวกเขาออกมาใช้ได้จริงๆ เป็นงานที่สามารถเห็นผลงานได้อย่างเป็นชิ้นเป็นอัน สร้างความภาคภูมิใจให้เกิดขึ้นได้ ที่สำคัญ ต้องเป็นงานที่ไม่ปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ หรือเป็นงานที่ต้องรอรับคำสั่งและนั่งประจำที่เพียงอย่างเดียว

3. บรรยากาศต้องดี

การทำงานที่มีบรรยากาศของความเป็นกันเอง เป็นองค์กรที่มีวัฒนธรรมแบบพี่น้องและครอบครัว สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้อย่างตรงไปตรงมา จะช่วยดึงให้คนรุ่นใหม่รู้สึกผูกพัน อุ่นใจ และอยากอยู่กับบริษัทมากขึ้น

4. ค่าตอบแทนต้องเหมาะสม

องค์กรต้องมีการออกแบบค่าจ้าง ค่าตอบแทนที่น่าสนใจและเหมาะสมกับบุคคลนั้น ซึ่งไม่ได้หมายความว่า ต้องจ้างด้วยเงินเดือนสูงๆ แต่อาจจะเป็นการให้ผลตอบแทนอื่นๆ ที่ออกแบบให้เหมาะกับความสามารถของคนๆ นั้น เช่น ถ้าเงินเดือนเริ่มต้นอยู่ที่ 25,000 บาท แต่หากเป็นบุคลากรที่มีความสามารถในการทำโปรเจกต์พิเศษได้ ก็จะได้รับเงินพิเศษอีกจำนวนหนึ่ง เพราะฉะนั้น องค์กรต้องพิจารณาเป็นรายบุคคลไปว่า คนไหนที่มีความสามารถที่จะรับงานพิเศษได้ ซึ่งเท่ากับว่าพนักงานจะได้เงินมากขึ้น และบริษัทก็ได้ประโยชน์ในเวลาเดียวกัน

Cr.smeone

 3361
ผู้เข้าชม
คอร์สอบรมการใช้งานโปรแกรม

คอร์สอบรมการใช้งานโปรแกรม

ลูกค้าโปรซอฟท์ อบรมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ที่ศูนย์ Prosoft Training Center
ติดต่อเรา

ติดต่อฝ่ายขาย

02-402-6117, 081-359-6920

sale@prosoft.co.th

ติดต่อฝ่ายบริการ โปรแกรมบัญชี

02-096-4900 กด 2 (AUTO)

02-402-8107

support@prosoftwinspeed.com

ติดต่อฝ่ายบริการ โปรแกรมเงินเดือน

02-096-4900 กด 3 (AUTO)

02-402-8138

support@prosofthrmi.com

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์