สัญญาต้องเป็นสัญญา เป็นฟรีแลนซ์ให้ดีต้องไม่ลืมสัญญา

สัญญาต้องเป็นสัญญา เป็นฟรีแลนซ์ให้ดีต้องไม่ลืมสัญญา

สัญญาต้องเป็นสัญญา เป็นฟรีแลนซ์ให้ดีต้องไม่ลืมสัญญา

สิ่งที่ทำให้ฟรีแลนซ์ปวดหัวไม่น้อยก็คือการทำงานแล้วถูกเบี้ยวเงิน หรือจ่ายค่าจ้างช้า ไม่ตรงตามที่ตกลงไว้ ต้องถามตัวเองก่อนว่าเราลืม สัญญา หรือไม่ ไม่ว่าสัญญาปากเปล่า และสัญญาที่เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งเป็นการปกป้องผลประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย ให้ผู้รับจ้างได้ค่าตอบแทนตรงตามสัญญา และผู้ว่าจ้างที่จะได้งานตามที่ตกลงไว้ ไม่ถูกทิ้งงานกลางคัน สัญญาที่ต้องรักษาร่วมกันนี้คือสิ่งที่ต้องเรียนรู้ไว้ทั้งสองฝ่าย


สัญญาและกฏหมายดูจะเป็นเรื่องยุ่งยากสำหรับนักออกแบบหรือคนทำงานอิสระแขนงต่างๆ สัมมนาเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ TCDC จึงจับมือร่วมกับบริษัท เออีซี เอนลิสท์ จำกัด โดยมีวิทยากรคือคุณชาติพร บารมีและคุณจิรพร ศรีเพ็ชรตานนท์ ซึ่งเป็นทีมผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายธุรกิจที่จะมาให้ความกระจ่างเกี่ยวกับการเขียนสัญญา

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการทำสัญญา
สัญญาคืออะไร?

สัญญาคือข้อตกลงระหว่างบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป (แต่ละฝ่ายจะมีกี่คนก็ได้) ว่าจะกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งชอบด้วยกฎหมายและความสมัครใจ บุคคลตามกฏหมายนั้น คือบุคคลธรรมดา และนิติบุุคคล ฉะนั้น ฟรีแลนซ์ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา ก็ย่อมทำสัญญากับบริษัทซึ่งเป็นนิติบุคคลได้ ตราบใดที่เป็นการกระทำที่ถูกกฏหมาย อยู่ในวิสัยที่ทำได้ (เช่น ไม่ใช่ขอให้เราไปทำสวนบนดาวอังคาร) ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย ถ้าผิดจากนี้ไม่ถือว่าเป็นสัญญา

สัญญาทางธุรกิจมีหลายแบบ โดยพื้นฐานควรรู้จักสัญญา 2 รูปแบบนี้ไว้ คือสัญญาจ้างแรงงานและสัญญาจ้างทำของสัญญาจ้างแรงงาน คือ สัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่า ลูกจ้าง ตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า นายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้ สัญญาจ้างแรงงานจึงเหมือนกับการจ้างพนักงานประจำที่มาทำงานให้ตลอดระยะเวลาจ้าง ลูกจ้างจะได้รับค่าตอบแทนตามระยะเวลาที่ตกลง เช่น รายวัน รายสัปดาห์ หรือรายเดือน โดยที่จะให้ผู้อื่นมาทำแทนไม่ได้ โดยนายจ้างมีอำนาจบังคับสั่งการลูกจ้าง และต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของลูกจ้างที่เกิดจากการทำงานนั้นด้วย

สัญญาจ้างทำของ

คือสัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่า ผู้รับจ้าง ตกลงจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า ผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น

สัญญาจ้างทำของมุ่งทำสิ่งที่ตกลงกันนั้นให้สำเร็จเสร็จสิ้น แล้วจึงจะได้ค่าตอบแทนตามที่ตกลงกันไว้ โดยผู้รับจ้างสามารถไปว่าจ้างผู้อื่นมาทำสิ่งนั้นแทนได้ (ยกเว้นระบุในสัญญาว่าต้องเป็นคนๆ นั้น เช่น จ้างดารามาเป็นพรีเซ็นเตอร์) โดยผู้ว่าจ้างไม่มีอำนาจในการบังคับสั่งการ และไม่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของผู้รับจ้าง

ฉะนั้น ลักษณะการทำงานของฟรีแลนซ์ จึงเป็นการทำงานภายใต้ สัญญาจ้างทำของ ซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทน คือผู้ว่าจ้างจะให้ค่าจ้างเมื่อผู้รับจ้างทำงานสำเร็จตามตกลง เป็นสัญญาที่ไม่มีแบบฟอร์ม คือสัญญาจ้างทำของเกิดขึ้นได้เมื่อมีการตกลงร่วมกัน แม้แต่สัญญาปากเปล่า หรือเขียนขึ้นบนกระดาษทิชชูก็สามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้


ปัญหาโลกแตกของฟรีแลนซ์

ในฐานะที่วิทยากรเป็นทนายความย่อมเจอปัญหามามากมาย ปัญหาโลกแตกของฟรีแลนซ์ที่มักเจอเสมอ ปัญหาแรกคือทำงานแล้วลิขสิทธิ์เป็นของใคร? ลิขสิทธิ์เป็นของผู้ออกแบบทันที 100 % โดยผู้ว่าจ้างมีสิทธิ์ใช้ผลงานตามที่ระบุไว้ในสัญญาเท่านั้น

แม้ไม่ใช่นักออกแบบ บรรณาธิการอิสระก็ยังถูกโกงได้ ในกรณีนี้ แม้ไม่มีสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร ก็สามารถฟ้องร้องได้ เช่น การใช้หลักฐานการส่งงาน ก็เพียงพอต่อการฟ้องบังคับผู้จ้างให้ชำระเงิน แต่อาจไม่ตรงกับที่ตกลงไว้แต่แรก เนื่องจากไม่มีการระบุไว้อย่างชัดเจนว่าเนื้องานต้องเป็นอย่างไร ค่าจ้างเท่าไหร่ ภายในระยะเวลาใด ฉะนั้น เพื่อป้องกันเหตุการณ์นี้ ก็ต้องทำสัญญา และระบุอย่างละเอียดทั้งเนื้องาน ปริมาณ ค่าตอบแทน ระยะเวลาการส่งงาน หรือการจ่ายค่าตอบแทนเช่นกัน

หรือการว่าจ้างปากเปล่า แล้วผู้ว่าจ้างจ่ายเป็นเช็คเด้ง เช็คที่เด้งนั้นก็คือหลักฐานของการว่าจ้าง ซึ่งนำไปฟ้องร้องได้เช่นกัน ฉะนั้น เพื่อความรัดกุม ควรจะทำสัญญาขึ้นมาเป็นลายลักษณ์อักษร และมีองค์ประกอบครบถ้วน

องค์ประกอบของสัญญาจ้างทำของ

1.ชื่อสัญญา
ควรมีชื่อที่เห็นแล้วรู้ทันทีว่าเป็นสัญญาเกี่ยวกับอะไร และควรระบุให้เฉพาะเจาะจงที่สุดเท่าที่ทำได้ด้วย เช่น สัญญาจ้างแปลเอกสารจากภาษาเยอรมันเป็นภาษาไทย นิยายเรื่อง…. หรือสัญญาจ้างออกแบบสวนบ้านคุณ…. เป็นต้น

2. คู่สัญญา
ต้องบอกอย่างชัดเจนว่าเป็นสัญญาระหว่างใครกับใคร อาจเป็นบริษัทกับบริษัท หรือระหว่างบริษัทกับบุคคล ในกรณีของบริษัทต้องระบุชื่อผู้มีอำนาจแทนนิติบุคคลนั้นด้วย เช่น กรรมการผู้จัดการบริษัท (สามารถตรวจสอบได้จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า www.dbd.go.th) หากเป็นบุคคลธรรมดา ต้องระบุชื่อ นามสกุล และเลขบัตรที่ประชาชนของบุคคลนั้นด้วย

3. ระยะเวลาของสัญญา
ต้องกำหนดเวลาเริ่มต้น และสิ้นสุดสัญญาอย่างชัดเจน  วันที่เซ็นสัญญา ระบุงวดส่งงาน เช่น งวดไหนกำหนดส่งเมื่อไหร่ จ่ายเงินแต่ละงวดเมื่อใด ถ้าให้ดีควรระบุสถานที่เซ็นสัญญาด้วย หากเกิดการฟ้องร้องขึ้นมาจะได้รู้ว่าต้องแจ้งความและขึ้นศาลที่ไหน

4. ความสัมพันธ์ของคู่สัญญา
สัญญาต้องบอกชัดถึงสิทธิ และหน้าที่ของคู่สัญญา โดยเขียนขอบเขตงานให้ครอบคลุม เช่น ว่าจ้างอะไรกัน รายละเอียดของผลงานหรือสินค้า เงื่อนไขการส่งมอบงาน ตรวจสอบ ลิขสิทธิ์งาน ฯลฯ หากมีรายละเอียดมาก ให้แนบท้ายสัญญา โดยระบุในสัญญาว่ามีเอกสารแนบด้วย

5. การดำเนินการเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญา
ต้องระบุอย่างชัดเจน ว่าจะดำเนินการอย่างไรหากมีการผิดสัญญา เช่น การปรับเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ เป็นต้น และสัญญาควรปกป้องสิทธิของแต่ละฝ่าย เมื่อเกิดข้อขัดแย้งขึ้น ควรพิจารณาได้ง่ายว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดสัญญา เช่น ระบุเป็นข้อความว่า หาก…ปฏิบัติผิดสัญญาข้อใดข้อหนึ่งในสัญญานี้ …สามารถดำเนินการใดได้ หรือมีผลอย่างไรได้

6. การบอกเลิกสัญญา
ควรกำหนดเงื่อนไขในการบอกเลิกสัญญาของแต่ละฝ่ายเอาไว้ ว่าสามารถทำได้ในกรณีใดบ้าง และต้องบอกล่วงหน้าเป็นระยะเวลาเท่าไหร่ และแต่ละฝ่ายต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง

7. อื่นๆ
เช่น ระยะเวลาการันตีผลงาน บริการหลังการขาย เหตุสุวิสัย เป็นต้น ข้อเพิ่มเติมอื่นๆ เหล่านี้จะเพิ่มขึ้นมาตามประเภทงาน และประสบการณ์ของผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้าง

ทั้งหมดนี้ สัญญาควรเขียนด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ไม่คลุมเครือ ไม่ต้องตีความอีก ไม่ซ้ำซ้อนหรือยาวเกินไป ต้องพิจารณาด้วยว่าไม่มีข้อใดผิดกฏหมาย และที่สำคัญต้องทำอย่างน้อย 2 ฉบับขึ้นไป ให้ทุกฝ่ายลงนามอย่างครบถ้วน และเก็บไว้คนละฉบับ หากมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ต้องทำเป็นบันทึกข้อตกลงเพิ่มขึ้นมาด้วย

คำถามและกรณีศึกษาจากผู้เข้าร่วมสัมมนา

ผู้เข้าร่วมเวิร์คชอปนี้มีส่วนใหญ่เป็นฟรีแลนซ์ผู้รับจ้าง และมีที่เป็นผู้ว่าจ้างในขณะเดียวกันด้วย แต่ละท่านมีคำถามจากประสบการณ์หลากหลายที่น่าเรียนรู้เป็นกรณีศึกษา เช่น


Q: ผู้ว่าจ้างระบุไม่ให้ผู้รับจ้างทำของลักษณะใกล้เคียงกันให้แก่ผู้อื่นได้หรือไม่?

A: ทำได้ เพราะเสรีภาพในการทำสัญญาจะระบุข้อตกลงแบบไหนก็ได้ แต่ต้องมีระยะเวลากำหนด เช่น ข้อตกลงห้ามนำความรู้ไปขายให้คู้แข่ง รักษาความลับ เป็นต้น ในกรณีนี้ ผู้ถามเป็นนักวาดภาพประกอบ ซึ่งมีสไตล์ชัดเจน เมื่อสัญญาระบุมาว่าห้ามมิให้เธอใช้ภาพวาด สไตล์ เดียวกันนี้กับสำนักพิมพ์อื่น เธอจึงไม่เซ็นสัญญา เพราะสไตล์การวาดคือสิ่งที่เธอเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ไม่ว่าวาดรูปอื่นก็ยังคงมีสไตล์นี้อยู่ดี เธอคิดว่าสำนักพิมพ์ไม่มีสิทธิ์ห้ามเธอใช้ สไตล์ ของเธอกับงานอื่นๆ ซึ่งนี้คือข้อถกเถียงกันด้วย ภาษา ที่ใช้ในสัญญา ซึ่งสำหรับนักกฏหมายก็ต้องหาทางใช้คำที่เจาะจงกว่านี้ ซึ่งเป็นเรื่องยากไม่น้อย

Q: ผู้ว่าจ้างจ่ายเงินช้าจะทำอย่างไร?
A: การบังคับให้จ่ายเร็วเป็นเรื่องยาก หากไม่ได้ทำสัญญาระบุงวดการจ่ายเงินให้ชัดเจน ซึ่งต้องทำตั้งแต่แรก

Q: ทำงานเสร็จ และส่งมอบเรียบร้อย แต่ลูกค้าไม่จ่ายเงิน จะทำอย่างไร?
A: มีสิทธิ์ยกเลิกสัญญา และขอให้เขาจ่ายเงิน กระบวนการนี้ยังไม่ต้องแจ้งความฟ้องร้อง แต่ให้ยื่นเป็นหนังสือเตือนก่อน ให้ลูกค้าตรวจรับงานและจ่ายเงินภายในเวลาเท่านั้นเท่านี้ หากไม่ทำตามถือว่าคุณผิดสัญญาและจะฟ้องร้องดำเนินคดีในลำดับต่อไป

Q: ทำสัญญากับต่างชาติต้องคำนึงถึงอะไร?
A: ต้องตกลงกันว่าจะใช้กฏหมายของประเทศใด เพราะแต่ละประเทศมีข้อกำหนดต่างกัน แต่ถ้าทำงานในไทยก็ควรใช้กฏหมายไทยเป็นหลัก 

Q: บอกเลิกสัญญาปากเปล่าได้ไหม?
A: ได้ เพราะสัญญาจ้างทำของเป็นสัญญาที่ไม่มีแบบ แต่การบอกปากเปล่าไม่รัดกุม ควรมีหลักฐาน ทำเป็นหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญา จะทำฝ่ายเดียว หรือเซ็นเป็นข้อตกลงก็ได้ ไม่ใช่แต่ผู้ว่าจ้างจะขอยกเลิกสัญญาได้ ผู้รับจ้างก็บอกเลิกได้เช่นกัน ตัวอย่างการเขียนหนังสือคือ เนื่องจากคุณ…(ไม่ปฏิบัติตามสัญญา) จึงขอยกเลิกการรับจ้างนี้ โดยขอให้คุณจ่ายค่าผลงานเป็นเงิน… แล้วทางเราจะส่งแบบหรือผลงานที่ทำให้… โดยต้องระบุให้ละเอียด

Q: ออกแบบสินค้าลิขสิทธิ์ ซึ่งผู้ออกแบบจะได้ค่าตอบแทน 60% จากราคาขาย แต่ออกแบบไปให้นานแล้ว ผู้ว่าจ้างก็ไม่ผลิตสักที จะต้องทำอย่างไร?
A: การออกแบบสินค้าลิขสิทธิ์แบบนี้ต้องระบุว่าต้องวางขายเมื่อไหร่ ผลิตจำนวนเท่าไหร่ วางขายที่ไหน เป็นระยะเวลานานเท่าใด และผู้ว่าจ้างควรการันตีรายได้ต่อเดือนให้ผู้รับจ้างด้วย ไม่ว่าเขาจะขายได้เท่าไหร่ต้องจ่ายขั้นต่ำต่อเดือนเท่านี้ สูงสุดเท่านี้ เพื่อเป็นการกระตุ้นผู้ผลิตให้เขาทำการขายด้วย

Q: การใช้ภาพหรือวิดีโอที่มีลิขสิทธิ์
A: ในเชิงลิขสิทธิ์นั้นนำมาใช้ไม่ได้ แต่หากใช้ไม่ใช่เพื่อการค้าและมีการขึ้นเครดิตให้ ก็มีกฏหมาย Fair Use รองรับอยู่ แต่อย่างไรก็ผิดลิขสิทธิ์ ต้องขออนุญาตเจ้าของผลงานก่อนและขึ้นเครดิตให้ ส่วนในกรณีของการเป็นนางแบบ จริงอยู่ลิขสิทธิ์ภาพถ่ายเป็นของช่างภาพ แต่นางแบบสามารถกำหนดได้ว่าภาพที่ถ่าย ช่างภาพสามารถนำไปใช้ในงานประเภทใดบ้าง ระยะเวลาเท่าไหร่ นี่เป็นกฏหมายที่คุ้มครองบุคคล แต่ถ้าเป็นสถานที่ เช่น รูปร้านอาหาร ช่างภาพมีลิขสิทธิ์ในภาพของตน หากเจ้าของร้านอาหารต้องการภาพนั้นมาใช้ ก็ต้องขออนุญาตช่างภาพก่อน

การทำสัญญามีรายละเอียดปลีกย่อยไปตามบริบท ซึ่งต้องพิจารณาเฉพาะลงไปอีกที แม้สัญญาจ้างทำของเป็นสัญญาที่ไม่มีแบบ สำเร็จได้โดยปากเปล่า แต่ก็ควรทำขึ้นมาเป็นลายลักษณ์ให้ครบถ้วนตามองค์ประกอบของสัญญาย่อมดีที่สุด ในอดีต ฟรีแลนซ์อาจพลาดมามาก แต่ถ้าทำสัญญาเป็นแล้วก็จะลดข้อผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้
 
ที่มา : web.tcdc.or.th

 9656
ผู้เข้าชม
คอร์สอบรมการใช้งานโปรแกรม

คอร์สอบรมการใช้งานโปรแกรม

ลูกค้าโปรซอฟท์ อบรมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ที่ศูนย์ Prosoft Training Center
ติดต่อเรา

ติดต่อฝ่ายขาย

02-402-6117, 081-359-6920

sale@prosoft.co.th

ติดต่อฝ่ายบริการ โปรแกรมบัญชี

02-096-4900 กด 2 (AUTO)

02-739-5902

support@prosoftwinspeed.com

ติดต่อฝ่ายบริการ โปรแกรมเงินเดือน

02-096-4900 กด 3 (AUTO)

02-739-5903

support@prosofthrmi.com

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์