ทิศทาง การปรับตัว และความท้าทายในปี 2563 ที่ซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วโลกต้องเตรียมรับมือ

ทิศทาง การปรับตัว และความท้าทายในปี 2563 ที่ซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วโลกต้องเตรียมรับมือ


สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ในแคนาดา ให้ข้อมูลถึงแนวโน้มและทิศทางการแข่งขันของธุรกิจค้าปลีกสินค้าอาหาร หรือกลุ่มโกรเซอรี่และซูเปอร์มาร์เก็ต ที่จะต้องเผชิญในปี 2563 นี้ ยังคงอยู่ท่ามกลางภาวะการแข่งขันที่รุนแรง ในฐานะประเทศที่มีผู้ค้ารายใหญ่ในกลุ่มนี้ทำตลาดอยู่หลายราย อาทิ Loblaw, Sobeys, Metro, Walmart, Costco เป็นต้น รวมทั้งยังต้องเผชิญกับคู่แข่งนอกอุตสาหกรรม อาทิ Amazon, Instacart.ca ที่ได้กระโดดเข้ามาร่วมแข่งขันเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด

ทั้งนี้ มูลค่าตลาดโกรเซอรี่ในแคนาดา​แต่ละปี มีมูลค่าราว 1.2 แสนล้านเหรียญฯ หรือคิดเป็นเงินไทยไม่ต่ำกว่า 2.7 ล้านล้านบาท โดยนักวิเคราะห์มองการแข่งขันในปี 2563 จะแข่งกันมากกว่าแค่เรื่องของราคา เพราะแต่ละรายต่างปรับกลยุทธ์​เพื่อสร้างความแตกต่าง รวมทั้งสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้ามากกว่าแค่เรื่องของคุณภาพสินค้า​ แต่รวมไปถึงความสะดวก (Convenience) และประสบการณ์ในการจับจ่าย (Shopping Experience) ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามาช้อปปิ้งจากช่องทางออนไลน์หรือออฟไลน์ก็ตาม

  • ความสะดวก-ประสบการณ์ ยังเป็น Key ในธุรกิจ 

​ทุกวันนี้ซูเปอร์มาร์เก็ตส่วนใหญ่ในแคนาดา​เริ่มให้บริการช่องทางการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ และเพิ่มความสะดวกด้วยการจัดส่งไปถึงผู้บริโภค (Direct Shipping) หรือการสั่งแล้วมารับสินค้าเองภายในห้าง (In-Store Pickup Service) เพื่อเจาะลูกค้าแต่ละกลุ่มที่มีความต้องการหรือไลฟ์สไตล์แตกต่างกัน ช่วยเพิ่มความสะดวกและทางเลือกใหม่ๆ ให้ผู้บริโภค รวมทั้งพยายามทดลองนวัตกรรมใหม่ๆ ​อาทิ Sobeys ทดลอง “Smart Cart” รถเข็นภายในห้างที่สามารถสแกนสินค้าเพื่อศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมของสินค้า หรือสแกนเพื่อชำระเงิน​ทำให้ลูกค้าไม่ต้องไปเข้าแถวที่จุดชำระเงิน เพื่อยกระดับ Shopping Experience ของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น

แม้ว่าการจับจ่ายซื้อสินค้าออนไลน์ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ ระยะเวลาการขนส่งไปถึงมือผู้ซื้อถือเป็นปัจจัยหลักของการแข่งขันในปี 2563 นี้ ​ซึ่งทุกวันนี้ห้างส่วนใหญ่สามารถให้บริการแบบส่งมอบสินค้าภายในวันเดียว (Same Day Shipping) แต่ในปีหน้าจะมีการขนส่ง​ภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังจากสั่งทางออนไลน์ (Delivery within the hour)

รวมทั้งความหลากหลายของสินค้าในร้านออนไลน์ ซึ่งอาจจะมากกว่า​ Physical Store ในบางสาขา และเป็นข้อได้เปรียบของร้านออนไลน์สำหรับการมอบประสบการณ์ให้​ผู้บริโภค เพราะมีสินค้าให้เลือกหลากหลาย ทั้งแบรนด์สินค้า ขนาด และรูปแบบที่แตกต่างกัน จนเกิดเป็นคำถามสำคัญในธุรกิจขึ้นว่า​ “ทำไมผู้บริโภคยังต้องไปซื้อสินค้าอุปโภค บริโภค อาทิ ยาสีฟัน สบู่ แชมพู ที่ร้านค้าปลีกแบบเดิมๆ ถ้าสามารถสั่งสินค้าเดียวกันทางออนไลน์ได้ และร้านส่วนใหญ่ก็มีบริการจัดส่งฟรี และยังสามารถส่งมอบสินค้าที่รวดเร็วอีกด้วย”

  • ใช้พื้นที่สร้าง Community

เมื่อคนส่วนใหญ่หันมาช็อปออนไลน์เพิ่มมากขึ้นในอนาคต ห้างค้าปลีกรูปแบบดั้งเดิมหรือ Brick-and-Mortar จึงเริ่มปรับกลยุทธ์ที่เน้นการสร้างประสบการณ์ (In-Store Experience) มากขึ้น อาทิ ​Eataly ซึ่งเป็นร้าน Italian Marketplace มีทั้งร้านอาหารสไตล์อิตาเลียน ซูเปอร์มาร์เก็ตไฮเอน เบเกอรี่ ที่นอกจากจำหน่ายอาหารยังใช้พื้นที่จัดสอนหลักสูตรการปรุงอาหาร เพื่อสร้างความผูกพันกับลูกค้า เป็นกลยุทธ์ใหม่ที่เรียกว่า “Social Shopping” เพื่อสร้างปฎิสัมพันธ์ระหว่างลูกค้ามากกว่าแค่การเป็นสถานที่จำหน่ายสินค้า แต่สามารถสร้าง Community สร้างความผูกพันซึ่งกันและกันในสังคมกลุ่มใหม่ๆ

นอกจากนี้ ผู้บริโภคกลุ่มใหม่ที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในอนาคต ได้แก่ กลุ่ม Gen Z ที่มีอายุระหว่าง 7-22 ปี จะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ภายใน 5-10 ปีจากนี้ไป ต่อจากกลุ่ม Millennial ซึ่งพฤติกรรมกลุ่ม Gen Z จะให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม อาทิ Climate Change จึงนิยมสินค้าที่คำนึงถึงเรื่องของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainability) ซึ่งจากผลการสำรวจในภูมิภาคอเมริกาเหนือ พบว่ากว่า 68% ของกลุ่ม Gen Z ให้ความสำคัญกับสินค้าที่เน้นความยั่งยืน และกว่า 35% ยินดีที่จะจ่ายราคาสินค้าเพิ่มขึ้นถึง 25% ถ้าสินค้าเหล่านั่นมุ่งเน้นไปกับการพัฒนาความยั่งยืน ต่อสังคม สิ่งแวดล้อม เพราะ​มีมุมมองหรือทัศนคติที่ห่วงใยโลกและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น นำไปสู่พฤติกรรมผู้บริโภคที่แตกต่างไป รวมทั้งยังให้ความสำคัญต่อปัจจัยอื่นๆ มากกว่าแค่ตัวสินค้า ดังนั้น การสร้างแบรนด์ หรือเรื่องราว (Story) ของตัวสินค้าจะมีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต

  • ความท้าทายที่ต้องเตรียมรับมือ

ในปีนี้การแข่งขันของซูเปอร์มาร์เก็ตมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น​ ​ทั้งการแข่งขันข้ามเซกเมนต์​ แข่งขันด้านราคา การเพิ่มความหลากหลายและสร้างความแตกต่างในสินค้า โดยเฉพาะการที่ห้างค้าปลีกรายใหญ่​ทำ Private Brand ออกมาจำหน่ายมากขึ้น เพราะสามารถสร้างกำไรและทำโฆษณาการตลาดได้ง่ายกว่าแบรนด์ทั่วไป ขณะที่ความท้าทายสำคัญอยู่ที่ความสามารถในการบริหารเวลาของผู้บริโภคเมื่อต้องเข้ามาใช้บริการในซูเปอร์มาร์เก็ตจากพฤติกรรมความเร่งรีบในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค ทำให้หลายคนรู้สึกว่าการไปซื้อสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นสิ่งที่ไม่น่าสนใจอีกต่อไป รวมทั้งข้อมูลจากงาน 2019 Groceryshop เมืองลาสเวกัส สหรัฐอเมริกา โดย Ms. Kathrine Black หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ร้านค้าปลีกและผู้บริโภค KPMG ระบุว่า ปัจจัยด้านเวลาและราคาสินค้าเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการค้าปลีกควรคำนึงให้มาก ยืนยันจากผลการสำรวจทัศนคติผู้บริโภคในปัจจุบันต่อการไปเลือกซื้อสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ต พบว่าสิ่งที่สร้างความไม่พอใจ ได้แก่

– ผู้บริโภค​ 29% พบว่าการค้นหาสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตนั้นค่อนข้างยาก

– ผู้บริโภค 29% รู้สึกว่าการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นสิ่งที่ค่อนข้างยาก เพราะสินค้าที่วางจำหน่ายมีความหลากหลายเกินไป

– ผู้บริโภค 60% พบว่าการขาดสต๊อกของสินค้าที่ต้องการบนชั้นวาง ทำให้ต้องกลับไปอีกครั้ง

– ผู้บริโภค 59% พบว่าต้องรอชำระเงินนานเกินไป ซึ่งค่อนข้างเสียเวลาตนเอง

ดังนั้น ​ผู้ประกอบการควรคำนึงถึงปัจจัยด้านเวลาของผู้บริโภค​​ เพื่อวางกลยุทธ์ดึงดูดลูกค้าที่ต้องการประหยัดเวลาในการเดินทางมาซูเปอร์มาร์เก็ตให้ได้

ที่มา : www.brandbuffet.in.th

 787
ผู้เข้าชม
คอร์สอบรมการใช้งานโปรแกรม

คอร์สอบรมการใช้งานโปรแกรม

ลูกค้าโปรซอฟท์ อบรมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ที่ศูนย์ Prosoft Training Center
ติดต่อเรา

ติดต่อฝ่ายขาย

02-402-6117, 081-359-6920

sale@prosoft.co.th

ติดต่อฝ่ายบริการ โปรแกรมบัญชี

02-096-4900 กด 2 (AUTO)

02-402-8107

support@prosoftwinspeed.com

ติดต่อฝ่ายบริการ โปรแกรมเงินเดือน

02-096-4900 กด 3 (AUTO)

02-402-8138

support@prosofthrmi.com

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์