อิฐทีละก้อน

อิฐทีละก้อน

 

อิฐทีละก้อน

 

 

 

       เด็กชายอเมริกันอัจฉริยะคนหนึ่งเรียนข้ามชั้นมาโดยตลอด เพราะสติปัญญาเหนือกว่าเพื่อนร่วมห้องหลายเท่า เมื่ออายุสิบสาม เขาสอบเข้าเรียนมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศได้ ทุกอย่างน่าจะลงตัว แต่ปรากฏว่าเขามีปัญหาในการใช้ชีวิตมหาวิทยาลัยอย่างมาก เพราะแม้จะเรียนเก่ง สู้คนอื่นได้สบายๆ แต่กลับไม่อาจเข้ากับเพื่อนร่วมชั้นได้เลย เขาไม่มีเพื่อนไม่ใช่เพราะเขาไม่น่าคบแต่อย่างไร ปัญหาคือเขายังเป็นเด็กชาย มีความคิดอ่านแบบเด็กอยู่ ขณะที่เพื่อนร่วมชั้นเป็นหนุ่มสาววัยยี่ิสิบ คิดและมีพฤติกรรมอย่างหนุ่มสาว เขากับเพื่อนร่วมชั้นเป็นคนละรุ่นกันจริงๆ

       พ่อแม่จำนวนมากให้ลูกเข้าเรียนเร็วกว่ากำหนด อาจเพราะอยากให้จบไวกว่าและเริ่มต้นเร็วกว่าคนอื่น อายุสี่ขวบเรียน ป. 1 แล้ว บ่อยครั้งเกิดปัญหาเข้ากับเพื่อนไม่ได้ เพราะพฤติกรรมและพัฒนาการของเด็กคนละวัยต่างกัน เด็กเก่งๆ บางคนเรียนข้ามชั้นตลอด อายุสิบแปดจบปริญญาตรี อายุยี่สิบจบปริญญาโท แต่ขาดวุฒิภาวะที่ส่วนใหญ่มาจากการสะสมด้วยเวลา

       เรื่องบางเรื่องจำเป็นต้องดำเนินไปทีละขั้นเหมือนการก่อกำแพงอิฐสร้างบ้าน ต้องวางอิฐทีละก้อน เรียงทีละแถว เมื่อได้ที่แล้วก็วางอิฐทีละก้อนเป็นแถวที่สอง แถวที่สาม ไล่ขึ้นไปเรื่อยๆ ตามลำดับของมัน ไม่อาจผิดไปจากนี้ เราไม่สามารถก่ออิฐแถวบนสุดโดยไม่ก่อแถวล่างสุด อิฐทีละก้อนคือการก่อร่างอย่างมั่นคง อิฐทีละก้อนคือความเสถียร

       แต่งานวางอิฐทีละก้อนดูชักช้าไม่ทันใจสำหรับคนรุ่นใหม่ในยุคที่ทุกอย่างอยู่ในโหมด ‘เร็วที่สุด’ จึงชอบทางลัด ไม่ว่าทำอะไรก็อยากเห็นผลเร็วๆ มองไม่เห็นความสำคัญหรือความจำเป็นของ ‘อิฐทีละก้อน’

       เราสามารถเรียนจากครูที่ดีที่สุดคือธรรมชาติ ธรรมชาติมี ‘อิฐทีละก้อน’ ของมัน พืชสัตว์ใช้ชีวิตตามกำหนดเวลาของมัน ต้องจำศีลหลังจากสะสมอาหารจนมากพอ สืบพันธุ์หลังจากสร้างรังเสร็จแล้ว เป็นต้น เป็นลำดับเวลาของมัน ผลไม้ที่มนุษย์ลัดขั้นตอนรีบบ่มให้สุก รสชาติสู้ผลไม้ที่สุกตามธรรมชาติไม่ได้ สวยแต่รูปจูบไม่หอม

       มนุษย์เราก็หนีไม่พ้นสัจธรรมข้อนี้ การเขียนหนังสือ การเป็นช่างมือหนึ่ง การเป็นมืออาชีพในสายต่างๆ ล้วนอาศัยกระบวนการแบบอิฐทีละก้อน ก้าวไปทีละขั้น ไม่มีทางลัด เซียนในทุกแขนงมาจากการฝึกฝนเรียนรู้แบบ ‘อิฐทีละก้อน’

       การเป็นนักเขียนต้องใช้เวลาบ่ม การใช้ภาษาที่มีพลังต้องใช้เวลาเพาะ การเป็นพ่อครัว การเข้าใจคุณสมบัติของวัตถุดิบแต่ละชนิดกินเวลาศึกษา การรู้จักส่วนผสมที่ถูกปากต้องใช้เวลาฝึกฝน ฯลฯ

       คนมีปัญญาจึงไม่รีบร้อน ทำงานไปเป็นขั้นเป็นตอน ไม่ข้ามผ่านรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ โดยคิดว่ามันไม่สำคัญ เพราะกำแพงที่ก่อด้วยอิฐไม่ครบก้อนนั้นไม่แข็งแรง และพังทลายได้

       ชีวิตเราทุกคนประกอบด้วยอิฐจำนวนมาก หากแต่ละท่อนแต่ละจังหวะของชีวิตคืออิฐหนึ่งก้อน ชีวิตเราทั้งชีวิตก็เป็นผลรวมของอิฐจำนวนมาก อิฐเหล่านี้บางก้อนสมบูรณ์ บางก้อนแตกร้าว บางก้อนเผาไฟมากไปจนดำเกรียม แต่อิฐทุกก้อนสำคัญ

       คนที่ประสบความสำเร็จในงานต่างๆ มักมีประสบการณ์คล้ายกันคือ ‘อิฐ’ ก้อนแรกๆ เป็นอิฐที่ไม่สมบูรณ์มีตำหนิ เผาไม่ได้ที่ หรือเผามากไปจนเกรียม เหล่านี้คือการทดลอง การฝึกฝน การเคี่ยวกรำ ความเหนื่อยยากลำบาก แต่อิฐแต่ละก้อนมีความจำเป็นต้องมีอยู่ อิฐไม่สมบูรณ์เหล่านี้เป็นรากฐานของอิฐชั้นต่อๆ ไปที่ดีกว่าเดิม ก่อรวมเป็นงานชิ้นใหญ่

       ยอดนักประดิษฐ์ของโลก ธอมัส เอดิสัน บอกว่า “ผมทำงานอย่างสนุกสนานสิบแปดชั่วโมงต่อวัน นอกจากงีบเล็กๆ แล้ว ผมนอนราว 4-5 ชั่วโมงต่อคืน” 

       เขาพิสูจน์ให้เราเห็นว่าอิฐไม่สมบูรณ์สำคัญเท่าๆ กับอิฐที่สมบูรณ์ เขาชี้ว่าหากผลงานชิ้นหนึ่งประกอบด้วยอิฐร้อยก้อน ไอเดียดีเป็นแค่อิฐก้อนหนึ่งเท่านั้น ที่เหลืออีก 99 ก้อนคือความเหน็ดเหนื่อย การลงมือทดลองทำ ล้มแล้วลุก ล้มแล้วลุก ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

       คู่แข่งของเอดิสัน นิโคลา เทสลา ซึ่งเป็นอัจฉริยะนักประดิษฐ์ ผู้คิดค้นกระแสไฟฟ้าสลับและผลงานต่างๆ มากมาย นอนวันละสองชั่วโมง ทำงานทดลองซ้ำแล้วซ้ำอีกจนสำเร็จ

       อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ ผู้ประดิษฐ์โทรศัพท์ สอนหนังสือในมหาวิทยาลัยตอนกลางวัน กลางคืนเป็นนกฮูกราตรี ทำงานทดลองโทรศัพท์ของเขา ทดลองไปทีละขั้น ทดลองแล้วทดลองอีก ก่ออิฐทีละก้อนอย่างอดทน

       การสั่งสอนเด็กจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้เด็กรู้ว่า ชีวิตไม่มีอะไรได้มาแบบลัดขั้นตอน เราไม่อาจมีความรู้โดยปราศจากการขวนขวาย ไม่มีทางได้ทักษะอย่างใดอย่างหนึ่งโดยไม่ต้องฝึกฝน

       อย่าบ่นว่างานที่ทำน่าเบื่อ อย่ามองว่าความผิดพลาดเป็นความน่าเบื่อ จงมองว่ามันเป็นประสบการณ์ มองว่างานที่กำลังทำแต่ละวันนั้นเป็นเพียงอิฐก้อนหนึ่งในบรรดาหลายพันหลายหมื่นก้อนในชีวิตเรา

       อิฐที่ถูกไฟเผาจนเกรียมอาจดูไม่สวย แต่มันแข็งแกร่งกว่าอิฐธรรมดา เพราะไฟช่วยเคี่ยวกรำให้มันแกร่ง

       ประสบการณ์เลวร้ายไม่ใช่ความเลวร้ายและความล้มเหลวแต่ละครั้งไม่ใช่ความล้มเหลว หากเราใช้พวกมันเป็นอิฐที่รองรับอิฐก้อนต่อๆ ไป




ที่มา : วินทร์ เลียววาริณ / www.winbookclub.com
แนะนำโดย : คุณวิโรจน์  เย็นสวัสดิ์  |  Facebook 

 1576
ผู้เข้าชม
คอร์สอบรมการใช้งานโปรแกรม

คอร์สอบรมการใช้งานโปรแกรม

ลูกค้าโปรซอฟท์ อบรมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ที่ศูนย์ Prosoft Training Center
ติดต่อเรา

ติดต่อฝ่ายขาย

02-402-6117, 081-359-6920

sale@prosoft.co.th

ติดต่อฝ่ายบริการ โปรแกรมบัญชี

02-096-4900 กด 2 (AUTO)

02-739-5902

support@prosoftwinspeed.com

ติดต่อฝ่ายบริการ โปรแกรมเงินเดือน

02-096-4900 กด 3 (AUTO)

02-739-5903

support@prosofthrmi.com

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์